พริกไทย รู้จักกับพริกไทยชนิดต่างๆ

หมวดหมู่: บทความอาหาร | 12 มีนาคม 2562 | จำนวนเข้าชม (30,526)
พริกไทย รู้จักกับพริกไทยชนิดต่างๆ

พริกไทย (Pepper) เป็นหนึ่งในเครื่องเทศที่มีการใช้ปรุงอาหารมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พริกไทยนั้นเป็นสมุนไพรเครื่องปรุงกลิ่นรสอาหารที่มีกลิ่นหอมฉุน รสชาติเผ็ดร้อน สามารถใช้เป็นสารกันเสียได้เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อต้านจุลินทรีย์ พริกไทยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Piper Nigrum มีแหล่งกำเนิดจากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ในสมัยก่อนนั้นเป็นสินค้าที่มีค่าสูงมากราวกับทองคำ มีแต่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ ปัจจุบันเป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศอากาศร้อน เช่น เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย และบราซิล

Pepper_Farm

ลำต้นพริกไทยเป็นลักษณะเถาวัลย์เลื้อย เป็นไม้ยืนต้นพร้อม มีรากเล็ก ๆ ชอนไชตามลำต้นช่วยในการยึดเกาะขึ้นด้านบน และมีรากหาอาหารเลี้ยงลำต้นในพื้นดินเหมือนต้นไม้ทั่วไป ส่วนใบคล้ายใบพลูปลายแหลม ขอบใบเรียบมัน มีดอกเป็นช่อนิยมปลูกในโรงเรือน หรือทำพื้นที่ยึดเกาะเอาไว้ พริกไทยเป็นพืชที่ปลูกง่าย ชอบดินที่ระบายน้ำ และชอบอากาศอุ่นชื้นเป็นหลักจะทำให้เจริญเติบโตได้ดี และนำส่วนผลที่เรียงตัวแน่นบนแกนมาตากแห้งเพื่อใช้เป็นเครื่องเทศปรุงรสนั้นเอง

green-2784211_1280

ในส่วนลักษณะของพริกไทยบนต้นสามารถแบ่งเป็น 2 สี ได้แก่ ผลสีเขียว และ ผลสีแดง

เมล็ดพริกไทยผลดิบสีเขียว คือ ผลอ่อน ผิวเขียวเข้ม เปลือกเมล็ดอ่อน ส่วนใหญ่ใช้ผัดเผ็ดกุ้ง ผัดเผ็ดหมูสับ หรือจะใช้เป็นส่วนประกอบในการคั่วพริกเกลือและพริกไทยอ่อน รวมทั้งเมนูผัดขี้เมาที่จำต้องใช้พริกไทยอ่อน และในอาหารไทยหลายเมนูนิยมใช้ เพราะดับกลิ่นคาวได้ดียิ่งนัก

เมล็ดพริกไทยผลสุกสีแดง คือ ผลสุกที่เปลี่ยนจากสีเขียวมาเป็นสีแดงคาต้น นิยมใช้พริกไทยสีแดงผ่านกระบวนการอื่น ๆ และตากแห้ง

อย่างไรก็ดี พริกไทยราชาแห่งเครื่องเทศนั้นยังมีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ศรีลังกา พันธุ์ซาราวัค พันธุ์บราซิล พันธุ์อินเดีย และพันธุ์จากมาเลเซีย ฯลฯ

Pepper_Tree


ประเภทพริกไทย
สามารถแบ่งประเภทพริกไทยแบบคร่าว ๆ จากการเก็บผลผลิตและการนำแปรรูป ดังนี้


1 พริกไทยอ่อน

Peppercorn

สำหรับพริกไทยอ่อนบางครั้งเรียกว่า พริกไทยสด หรือ พริกไทยดิบ เพราะมีเปลือกเมล็ดสีเขียว ผลยังไม่สุก เคี้ยวรับประทานได้ทันที และใช้ประกอบอาหาร เพิ่มกลิ่นหอมฉุน เผ็ดพร้อมกับ ช่วยดับกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเนื้อ หรือกลิ่นคาวอื่น ๆ นิยมขายเป็นช่อผลรวมกันดูสวยงาม ใช้ตกแต่งจานอาหารก็สวยอีกแบบ

2 พริกไทยดำ

Black_Pepper

ในส่วนพริกไทยดำเป็นผลแห้ง เปลือกดำสมชื่อ แปรรูปจากผลที่ยังไม่สุกสีเขียวเข้ม เปลือกเมล็ดแข็งมาตากแดด มีทั้งแบบเมล็ด และแบบป่น ซึ่งพริกไทยดำมีกลิ่นหอมกว่าพริกไทยสด ช่วยเพิ่มกลิ่นและรสของอาหารได้ดีเยี่ยม เพราะมีรสเผ็ดฉุนกว่า นิยมใช้หมักเสต็กเนื้อ เสต็กหมูชั้นดี


3 พริกไทยขาว หรือ พริกไทยล่อน

White_Pepper

เป็นผลผลิตจากผลพริกไทยสุกคาต้นสีแดง แช่น้ำและแยกเปลือกออก เหลือเพียงเมล็ดสีขาว หลังจากนั้นก็ผ่านกระบวนการอบ หรือตากแห้งก่อนใช้ปรุงอาหาร ผัด นึ่ง แกง กลิ่นหอมอ่อนและมีรสเผ็ดใกล้เคียงกับพริกไทยดำ แตกต่างที่รูปลักษณ์ แต่ละมุนกว่า ส่วนใหญ่ใช้ปรุงอาหารจีน อาหารไทยที่ไม่ต้องการแต่งสีเพิ่มเติม


พริกไทยดำและพริกไทยขาวแตกต่างกันอย่างไร?

จริงๆแล้วพริกไทยทั้งสองชนิดนั้นมาจากต้นพริกไทยต้นเดียวกัน ต่างเพียงกรรมวิธีการผลิต สรุปง่าย ๆ ดังนี้

พริกไทยดำ ทำจากผลสดสีเขียว ที่ยังไม่สุกคาต้น นำมาตากให้แห้ง 3-4 วันให้ช่อผลเหี่ยว และนวดต่อให้ผลร่วงด้วยตะแกรง กระด้ง พร้อมกับนำตากแดดอีก 5-6 วันให้แห้งดี

พริกไทยขาว ทำจากผลที่สุกคาต้นสีแดง นำมาแช่น้ำและนวดหรือทุบเอาเพื่อเอาเปลือกสีแดงออก จะได้เมล็ดด้านในสีขาวนวล ตามด้วยตากแดดทันที ประมาณ 4-5 วัน เพื่อให้แห้งสนิท และมีความชื้นต่ำไม่เป็นเชื้อรา บางคนอาจเรียกว่าพริกไทยขาวว่า ”พริกไทยล่อน” เนื่องจากการล่อนเอาเปลือกออก


ปกติพริกไทยดำจะมีความเผ็ดและกลิ่นฉุนกว่ารวมทั้งมีคุณประโยชน์มากกว่าพริกไทยขาว


พริกไทยสีแดง

Pink_Pepper

จริงๆแล้วพริกไทยสีแดงกึ่งชมพูบนโต๊ะอาหารนั้นเป็นพืชคนละชนิดกับพริกไทยดำหรือพริกไทยขาว พริกไทยแดงหรือที่เรียกว่า Pink Peppercorn เป็นผลของต้น Peruvian Pepper ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Schinus mole ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ออกผลเป็นพวง เนื่องจากผลมีลักษณะกลิ่นหอมฉุนจึงมีการนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ อาจใช้ผสมพริกไทยเมล็ดเป็น 3 สี

 

Peppercorn_Black

 

ประโยชน์และสรรพคุณของพริกไทย
พริกไทยช่วยเพิ่มรสชาติ หอม เผ็ด กลมกล่อม ของอาหาร ช่วยต้านเชื้อจุลินทรีย์ ป้องกันไม่ให้อาหารเน่าเสียได้ รวมทั้งมีสรรพคุณทางยา ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ช่วยลดไข้ ฯลฯ การรับประทานพริกไทยควรทานแต่พอดี ไม่ควรรับประทานพริกไทยติดต่อกันจำนวนมาก อาจทำให้ปวดแสบท้องได้เพราะสามารถทำให้ลำไส้และกระเพาะอาหารระคายเคือง

คีย์เวิร์ด: พริกไทย,ประเภทพริกไทย,พริกไทยดำ,พริกไทยขาว,พริกไทยล่อน,ชนิดพริกไทย